บ้านคืออะไร
ความสำคัญของบ้าน มีดังนี้
1. ปัจจัยสี่ที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์อย่างเราๆท่านๆ เป็นที่ที่เราได้ทำกิจกรรมที่จำเป็นในชีวิตของคนเรา ได้แก่ ใช้พักอาศัย พักผ่อน ที่อยู่เพื่อผ่อนคลายหลังจากเหนื่อยล้าจากการทำงาน กิน ขับถ่าย บันเทิง และอื่นๆ
2. เป็นที่อยู่ที่ให้ความปลอดภัย ช่วยป้องกันแสงแดด อากาศ ฝน สัตว์ร้าย หรือคนที่แปลกหน้าที่ เราจึงอาศัยอยู่ในบ้านได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งป้องกัน ดูแลทรัพย์สินของเรา
3. เป็นสถานที่รวมของสมาชิก ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนๆ คนในบ้าน หรือกลุ่มเพื่อน เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกัน คนละวัย คนละรุ่น คนละเพศ แต่มีความสัมพันธ์กันคือ พ่อแม่ พี่น้อง ญาติสนิท หรือบอยู่ร่วมกันกับเพื่อนสนิท หรือคนอื่นๆ
4. เป็นส่วนหนึ่งในชุมชนบ้านทุกหลังที่ก่อสร้างมานั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วย งานภาครัฐ เพื่อความเป็นระเบียบของชุมชน และทุกบ้านจะมีทะเบียนบ้านที่ระบุ เลขที่บ้านและสถานที่ตั้ง ตามกฎหมาย ตามระเบียบ ซึ่งเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของชีวิตในฐานะเป็นพลเมืองดี และเสริมสร้างความดีงามแก่จิตใจ
5. เป็นรากฐานของสังคม เพราะบ้าน เปรียบเสมือนแหล่งบ่มเพาะอุปนิสัย ความประพฤติที่ดีงามให้กับคนในครอบครัว เพื่อให้เป็นประชากรที่ดีของสังคมต่อไป
จะเห็นได้ว่า บ้าน เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก วันนี้ ใครที่นึกไม่ออกว่าจะไปพักผ่อนที่ใด ลองกลับไปบ้านที่จากมานาน หรือกลับบ้านไปพักผ่อนให้เต็มที่จากความเหนื่อยล้าในการทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมนอกบ้านดูครับ
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการก่อนเริ่มต้นสร้างบ้าน
ขั้นตอนที่ค่อนข้างสำคัญเป็นอันดับแรกที่ต้องทำคือ การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้นสร้างบ้านไม่ว่าจะเป็น
• เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง การตรวจสอบระดับดิน กรณีที่ที่ดินแปลงนั้นอยู่ในระดับต่ำเกินไป หรือมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ หน้าดินไม่เสมอกัน รวมถึงการตรวจสอบความแข็งของดิน ซึ่งอาจต้องมีการถมดินเพิ่ม เพื่อให้เหมาะกับการสร้างบ้าน ไม่เกิดปัญหาการทรุดภายหลัง
• การขนย้ายอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการก่อสร้าง โดยต้องมีพื้นที่รองรับ และเส้นทางให้รถเข้าออกได้สะดวก
• การวางแผนสถานที่พักคนงาน เพราะการสร้างบ้านต้องใช้ระยะเวลายาวนาน กรณีที่คนงานไม่ได้มีที่พักอาศัยใกล้พื้นที่ก่อสร้างก็ต้องมีสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงาน เพื่อความสะดวกและเป็นสัดส่วน
• เตรียมพร้อมด้านการขอน้ำ และไฟฟ้าชั่วคราว เพื่อรองรับงานก่อสร้าง และการพักอาศัยชั่วคราวของคนงาน ทำให้งานสร้างดำเนินได้อย่างไม่สะดุด
• วางผังอาคารสิ่งปลูกสร้าง ตำแหน่งลงเสาเข็ม และระยะร่นตามเทศบัญญัติ โดยขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนลงหลักปักฐานสร้างบ้าน นอกจากนี้หากที่ดินที่สร้างมีต้นไม้ใหญ่และต้องการเก็บไว้ ก็ต้องคำนึงถึงการปรับตำแหน่งเพื่อหลีกเลี่ยงแนวต้นไม้ด้วย
ขั้นตอนที่ 2 งานขุดเจาะเสาเข็ม
ขั้นตอนนี้ก็ค่อนข้างสำคัญเช่นกัน ซึ่งถ้าทำไม่ดีแล้ว เสาเข็มไม่ยาวพอถึงชั้นดินแข็งก็ทำให้บ้านทรุดได้ ฉะนั้้นการเจาะเสาเข็มจึงต้องเตรียมการให้ดี การขุดเจาะเสาเข็มนั้นต้องเป็นไปตามผังตรงตามจุดที่วางไว้ การตอกเสาเข็มทุกต้นจะต้องมีผู้ควบคุมและตรวจสอบความแข็งแรงให้ตรงตามหลักวิศวกร เพื่อให้งานสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน
ขั้นตอนที่ 3 งานฐานรากและโครงสร้าง มี 2 ขั้นตอนดังนี้
1.การวางฐานราก ต้องมีการเตรียมพร้อมส่วนต่างๆ คือ
• การขุดหลุมให้ได้ตามขนาดที่กำหนด และตัดหัวเสาเข็มเพื่อเตรียมงานฐานราก
• ทำการตั้งไม้แบบและค้ำยัน
• เตรียมส่วนลูกปูนเพื่อนำมาหนุน
• ทำการผูกเหล็กเสริมส่วนฐานราก และตอม่อ
• เทคอนกรีต
2.งานขึ้นโครงสร้างตัวบ้านและงานสุขาภิบาล
• ดำเนินการขึ้นงานโครงสร้างส่วนของชั้น 1 ตามแบบและให้มีมาตรฐาน พร้อมขุดดินเพื่อเตรียมส่วนของระบบสุขาภิบาล
• ดำเนินการขึ้นโครงสร้างชั้น 2 และโครงสร้างหลังคา โดยตัดทำเหล็กโครงสร้างหลังคา พร้อมทาสีกันสนิม จากนั้นจึงขึ้นโครงสร้างงานระบบสุขาภิบาล
ขั้นตอนที่ 4 การสร้างบันได การมุงหลังคา
ขั้นตอนนี้ถือเป็นส่วนเติมเต็มด้านโครงสร้างบ้าน เพื่อให้เป็นโครงบ้านที่สมบูรณ์ พร้อมสำหรับการทำในขั้นตอนต่อไป โดนการทำโครงสร้างบันได จะต้องดูทั้งความสูง ความชันของตัวบันได บวกกับจำนวนขั้นบันไดที่ต้องสัมพันธ์กับมาตรฐานการสร้างที่ทำให้การเดินขึ้นลงสะดวก ปลอดภัย
ส่วนการหล่อชิ้นส่วนต่างๆ เช่น บัว กันสาด ขอบปูน ตลอดจนการมุงหลังคาบ้านเป็นขั้นตอนที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานการสร้างแล้ว การเลือกใช้วัสดุที่มีมาตรฐาน และเหมาะกับงานแต่ละส่วนก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะงานหลังคาที่ต้องมุงให้ถูกตามขั้นตอนเพื่อป้องกันการรั่วซึมในภายหลัง
ขั้นตอนที่ 5 งานก่อผนัง ติดตั้งวงกบประตู และเตรียมงานระบบไฟฟ้า-ประปา
สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนนี้ ต้องทำอย่างถูกต้องตาฤมหลักมาตรฐาน เช่น
อิฐและคอนกรีตที่ใช้ก่อต้องทำให้ชื้นก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้อิฐดูดน้ำจากปูนก่อเร็วเกินไป
ต้องก่ออิฐสลับแนวให้ถูกต้องตามหลักการก่อสร้าง
• ก่อให้ได้แนวดิ่งและแนวฉากที่ถูกต้อง
• การก่อชนผนัง เสา ผนัง หรือแผงคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องเสียบเหล็กยื่นออกมาไม่น้อยกว่า 25 ซม. และฝังอยู่ในเสาเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก 10 ซม.
• หากผนังมีความยาว หรือสูงกว่า 3 ม. ต้องมีเสาเอ็น หรือทับหลังคอนกรีตเสริมเหล็ก
• หากต้องการซ่อนในส่วนของสายไฟหรือท่อ ให้ดำเนินการวางท่อของระบบทั้ง ไฟฟ้า ประปา เครื่องปรับอากาศ และระบบสื่อสารต่างๆ ในขั้นตอนของงานผนังไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากภายหลัง
ขั้นตอนที่ 6 การฉาบผนังและติดตั้งฝ้าเพดาน
ก่อนดำเนินการฉาบปูน ควรต้องทำการกำหนดความสูงของฝ้าเพดานก่อน ทั้งฝ้าเพดานส่วนของภายใน ภายนอก และฝ้าชายคา จากนั้นจึงดพเนินการฉาบปูนตามมาตรฐานและขั้นตอน แล้วจึงทำการติดตั้งฝ้าเพดาน ส่วนของการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โคมไฟ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับฝ้าเพดาน และถ้าอุปกรณ์นั้นมีน้ำหนักมาก ควรมีการเสริมโครงคร่าวฝ้าเพดาน หรือทำการยึดแขวนกับโครงสร้างหลักของบ้าน เพื่อความแข็งแรง และความปลอดภัย รวมถึงการติดตั้งช่องเซอร์วิสเพื่อใช้เป็นช่องเปิดสำหรับอะนวยความสะดวกเวลาต้องเข้าไปตรวจสอบ และบำรุงรักษางานระบบต่างๆ เช่น สายเคเบิ้ล สายไฟ ท่อน้ำ โดยติดตั้งไว้บริเวณที่ไม่เป็นจุดสังเกตมาก เช่น ห้องครัว หรือห้องน้ำ
ขั้นตอนที่ 7 การติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งพื้น ผนัง และการทาสี
ถือเป็นขั้นตอนท้ายๆ ของงานสร้างบ้าน ซึ่งเป็นทั้งการติดตั้งส่วนประกอบต่างๆ คือ ประตู หน้าต่าง สวิตซ์ ปลั๊กไฟ งานปูพื้น ปูกระเบื้อง และทาสี ซึ่งหากงานในขั้นตอนนี้เสร็จสิ้น บ้านทั้งหลังก็สามารถทำความสะอาดและนำเฟอร์นิเจอร์สำคัญๆ เข้ามาได้
การสร้างบ้านตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ จะช่วยให้บ้านหลังนั้นมีความแข็งแรง ปลอดภัย ถูกต้องตามหลักการก่อสร้าง โดยหากเลือกใช้บริการจากบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความเป็นมืออาชีพ ก็จะยิ่งมั่นใจได้ว่า บ้านที่ได้นั้นมีมาตรฐานอย่างแน่นอน